ข่าว

พาณิชย์ลุย 4 โครงการช่วยเหลือเกษตรกรมันสำปะหลัง เร่งเพิ่มมูลค่า ลดต้นทุนการผลิต ขยายตลาดส่งออก

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทยในทุกมิติ ทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ขยายช่องทางการตลาด และช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เหมาะสม ท่ามกลางภาวะราคามันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว และแนวโน้มความต้องการใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ที่ลดลง

เพื่อรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2567/68 รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ได้อนุมัติงบประมาณ 368.90 ล้านบาท ดำเนินมาตรการช่วยเหลือผ่าน 4 โครงการหลัก ได้แก่

1. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง รัฐบาลสนับสนุนวงเงิน 300 ล้านบาท เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเก็บสต๊อกหัวมันสดได้ 6 ล้านตัน โดยชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ต่อปี ระยะเวลาการเก็บสต๊อกตั้งแต่ 1 มกราคม - 30 พฤศจิกายน 2568 ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 112 ราย ใน 36 จังหวัดทั่วประเทศ

2. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรรวบรวมมันสำปะหลัง โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 17.5 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายรวบรวมผลผลิตมันสำปะหลัง 2 แสนตัน ผ่านการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่สถาบันเกษตรกรในอัตรา 4.5% ต่อปี โดยที่เกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยเพียง 1% และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 3.5%

3. โครงการสนับสนุนการแปรรูปหัวมันสำปะหลังเป็นมันเส้น กระทรวงพาณิชย์จัดสรรงบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเครื่องสับมันขนาดเล็กให้แก่เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร เป้าหมาย 650 เครื่อง เครื่องละไม่เกิน 15,000 บาท โดยช่วยให้เกษตรกรสามารถแปรรูปหัวมันสดเป็นมันเส้นเพื่อนำไปจำหน่ายได้โดยตรง ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต เช่น หัวมันสดราคา 2.00 บาท/กก. หากแปรรูปเป็นมันเส้นจะสามารถขายได้ในราคา 5.50 บาท/กก.

4. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 41.4 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ปรับปรุงระบบการเพาะปลูก เช่น การติดตั้งระบบน้ำหยด เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต วงเงินรายละไม่เกิน 230,000 บาท โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 3% เป้าหมายเกษตรกร 3,000 ราย

นอกจากมาตรการสนับสนุนภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ยังเร่งดำเนินการขยายตลาดส่งออกมันสำปะหลังของไทย โดยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับผู้นำเข้าของจีนปริมาณรวม 980,000 ตัน (เทียบเท่าหัวมันสด 2.96 ล้านตัน) มูลค่า 8,803.95 ล้านบาท ซึ่งช่วยสร้างเสถียรภาพด้านการค้าระหว่างไทยและจีนให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงยังผลักดันให้ภาคปศุสัตว์และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ใช้มันเส้นเป็นวัตถุดิบทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยจากเดือนธันวาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน พบว่าผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้มันเส้นขึ้น 15% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 15% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568

เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำในบางพื้นที่ รัฐบาลยังได้ดำเนินมาตรการเพิ่มช่องทางการตลาดโดยเปิดจุดรับซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก แต่มีผู้รับซื้อไม่เพียงพอ ซึ่งช่วยให้ราคาหัวมันสดที่ขายได้สูงขึ้นจากตลาดทั่วไป เช่น ในจังหวัดกาญจนบุรีและนครสวรรค์ ที่มีการตั้งจุดรับซื้อใหม่ พบว่าเกษตรกรสามารถขายหัวมันสดเชื้อแป้ง 25% ได้ในราคา 2.05-2.10 บาท/กก. สูงกว่าราคาตลาดทั่วไปที่อยู่ที่ 1.60-1.70 บาท/กก.

จากมาตรการทั้งหมดที่รัฐบาลดำเนินการ ส่งผลให้ราคามันสำปะหลังเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดย ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ราคามันเส้นขยับขึ้นมาอยู่ที่ 6.10-6.44 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2567 ที่ 5.40-5.60 บาท/กก. คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 14% ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหัวมันสดที่เกษตรกรจำหน่ายได้ปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยในเวทีโลก รัฐบาลมีกำหนดจัดงานประชุมสัมมนามันสำปะหลังโลก (World Tapioca Conference: WTC 2025) ที่กรุงเทพฯ ในเดือนมิถุนายน 2568 ซึ่งจะเป็นเวทีสำคัญในการแสดงศักยภาพของไทยในฐานะผู้ส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก รวมถึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้พบปะเจรจากับผู้นำเข้าต่างชาติ เพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งในตลาดเดิมและตลาดใหม่ ช่วยลดปัญหาการขายตัดราคา และเสริมสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยทั้งระบบ

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/politics/news-1760308